บริษัท
เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หรือ “เป๊ปซี่โค ประเทศไทย”
ผู้ผลิต “เลย์”
มันฝรั่งทอดกรอบยอดนิยม และ มูลนิธิเป๊ปซี่โค จับมือพันธมิตร “มูลนิธิรักษ์ไทย” ภายใต้โครงการ “She Feeds
The World Thailand” รุดลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายเพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนกับชาวบ้านและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอุทกภัยครั้งใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศไทย
ทั้งที่จังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน สร้างความเสียหายทั้งต่อทรัพย์สิน
บ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะแปลงเกษตรในพื้นที่ลุ่มต่ำ
ทีมจิตอาสาจากทีมเกษตรของบริษัทเป๊ปซี่โค
ประเทศไทย และเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้โครงการ “She Feeds The World
Thailand” พร้อมด้วยหน่วยงานท้องถิ่นและเครือข่ายเข้าให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน
2 หมู่บ้านรวมกว่า 100 ครัวเรือน ในตำบลตับเต่า
อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยได้นำถุงยังชีพและเครื่องใช้อุปโภคบริโภคที่จำเป็นมอบให้กับชาวบ้าน
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างราบรื่นที่สุด
พร้อมกันนี้ยังลงสำรวจพื้นที่เกษตรเพื่อประเมินความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูแปลงเกษตรที่ได้รับความเสียหาย
เพื่อให้เกษตรกรสามารถกลับมาทำการเพาะปลูกได้อย่างเดิมโดยเร็วที่สุด
ทั้งการมอบเมล็ดพันธุ์ และอุปกรณ์การเพาะปลูก พร้อมสนับสนุนแนวทางเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนให้กับชาวบ้านในพื้นที่
นอกจากนี้ยังได้เตรียมวางแผนในจัดการขยะที่มาตามน้ำในระยะถัดไปด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน
นายสมหวัง รู้บาปบุญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านทรายกาด ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งทำอาชีพเกษตรกรและเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า “น้ำท่วมปีนี้รุนแรงกว่าปี 2554 มาก โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรของหมู่บ้านเราเป็นที่ลาดเชิงเขา เมื่อน้ำท่วมจะมีดินสไลด์ลงมาทับแปลงเกษตร และยังทำให้ทางน้ำเปลี่ยนทิศทางมาไหลท่วมลงพื้นที่ชุมชนและไร่นากว่า 100 ไร่จนได้รับความเสียหายอย่างหนักกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งนอกจากความช่วยเหลือด้านของกินของใช้แล้ว ชาวบ้านก็ยังต้องการการสนับสนุนฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลดด้วย เพื่อจะได้กลับมาเพาะปลูกได้ เพราะสำหรับชาวบ้านที่มีรายได้หลักจากการเกษตร การฟื้นฟูแปลงเกษตรเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด จึงต้องขอขอบคุณเป๊ปซี่โค ประเทศไทย มูลนิธิเป๊ปซี่โค และมูลนิธิรักษ์ไทย ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย”
มร.ฮาทิม คานน์ ผู้อำนวยการอาวุโส มูลนิธิเป๊ปซี่โค กล่าวว่า “หนึ่งในพันธกิจหลักของมูลนิธิเป๊ปซี่โคคือการสนับสนุนเจตนารมณ์ของบริษัทเป๊ปซี่โคในการส่งเสริมและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนผ่านโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืน เมื่อเกิดภัยพิบัติในพื้นที่โครงการ “She Feeds the World” จึงเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร เพื่อกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วที่สุด ฟื้นคืนการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของครัวเรือนให้ดีขึ้น”
นางสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำประเทศไทยและเวียดนาม เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ She Feeds the World ของเป๊ปซี่โคเป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์ด้านการเกษตรเชิงบวก (Positive Agriculture) เมื่อเกิดภัยพิบัติ เราจึงให้ต้องเร่งช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่โครงการรวมไปถึงชุมชนใกล้เคียง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายในเบื้องต้น จากนั้นเราก็จะร่วมวางแผนเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม ผ่านการร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร เครือข่ายผู้นำชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนโดยรอบสามารถกลับมาดำเนินชีวิตและเพาะปลูกได้ตามเดิม สานต่อแนวปฏิบัติของโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Farming Program หรือ SFP) ที่เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ร่วมส่งเสริมการดำเนินงานมานานเกือบ 3 ทศวรรษ เพื่อสร้างแนวทางการเพาะปลูกและระบบอาหารที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คนในประเทศไทยต่อไป”
โครงการ “She Feeds The World” ดำเนินงานโดยมูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับองค์การแคร์ สหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเป๊ปซี่โคและโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสตรีในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยประสานเครือข่ายเกษตรกรและกลุ่มสตรีที่แข็งแกร่งเพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืนและการเกษตรแบบยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านมาในช่วงฤดูฝนหรือเกิดเหตุอุทกภัย เครือข่ายได้ทำงานร่วมกันและสื่อสารกันอย่างต่อเนื่องพร้อมประสานขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากหน่วยงานท้องถิ่นและร่วมวางแผนบรรเทาผลกระทบหลังน้ำลด เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้กลับมาเร็วที่สุด
เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวทางเกษตรยั่งยืนและการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพื่อขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อผู้คนตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่ธุรกิจ สอดคล้องกับกลยุทธ์ pep+ (PepsiCo Positive) ของเป๊ปซี่โค ทั้งยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ โดยวางแผนร่วมกับมูลนิธิเป๊ปซี่โคในการขยายความร่วมไปสู่มูลนิธิ องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมและเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์การเติบโต ทั้งด้านมูลค่าทางธุรกิจและคุณค่าสังคมอย่างมั่นคง
-------------------------------------------------------------
เว็บไซต์ www.pepsico.com และติดตามข่าวสารได้ที่ X (Twitter), Instagram, Facebook และ LinkedIn @PepsiCo